เมนู

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในภาระ


ถัดจากภัณฑะที่ตั้งอยู่ในยานนี้ไป ภาระนั่นแล ชื่อว่า ภารัฏฐะ (ภัณฑะ
ที่ตั้งอยู่ในภาระ). ภาระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ 4 ประการด้วย
อำนาจแห่งสีสภาระเป็นต้น. ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในภาระนั้น พึงทราบการกำหนด
อวัยวะมีศีรษะเป็นต้น เพื่อความไม่ฉงนในภาระทั้งหลาย มีสีสภาระเป็นต้น.
บรรดาอวัยวะเหล่านั้น พึงทราบการกำหนดศีรษะก่อน; นี้กำหนดส่วนเบื้องล่าง
คือ ที่เบื้องหน้ามีหลุมคอ, ที่คอเบื้องหลังของคนบางพวก มีขวัญอยู่ที่
ท้ายผม, ที่ข้างทั้งสองแห่งหลุมคอนั่นเอง ผมของคนบางพวก เกิดลามลงมา,
ผมเหล่าใด เขาเรียกว่า จอนหู, ส่วนเบื้องต่ำแห่งผมเหล่านั้นด้วย. กำหนด
เบื้องบนแต่นั้นขึ้นไป พึงทราบว่าเป็นศีรษะ. ภาระที่ตั้งอยู่ในระหว่างนี้ ชื่อว่า
สีสภาระ.
อวัยวะที่ชื่อว่า คอในข้างทั้งสอง เบื้องต่ำตั้งแต่จอนหูลงไป, เบื้องบน
ตั้งแต่ข้อศอกขึ้นไป, เบื้องต่ำตั้งแต่รากขวัญที่ท้ายทอยและ หลุมคอลงไป.
เบื้องบนตั้งแต่รากขวัญกลางหลัง และหลุมตรงลิ้นปี่ ในท่ามกลางที่กำหนด
ของอกขึ้นไป. ภาระที่ตั้งอยู่ในระหว่างนี้ ชื่อว่า ขันธภาระ.
ส่วนเบื้องต่ำตั้งแต่รากขวัญกลางหลัง และหลุมตรงลิ้นปี่ลงไปจนถึง
ปลายเล็บเท้า, นี้เป็นการกำหนดแห่งสะเอว, ภาระที่ตั้งอยู่ในสรีระโดยรอบใน
ระหว่างนี้ ชื่อว่า กฏิภาระ.
ส่วนเบื้องต่ำตั่งแต่ข้อศอกลงไป จนถึงปลายเล็บมือ, นี้เป็นการกำหนด
แห่งของที่หิ้ว. ภาระที่ตั้งอยู่ในระหว่างนี้ ชื่อว่า โอลัมพกะ.
บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยเป็นลำดับไป ในคำว่า สีเส ภารํ เป็นต้น
ดังต่อไปนี้ :- ภิกษุใดอันพวกเจ้าของมิได้สั่งว่า ท่านจงถือเอาภัณฑะนี้ไปใน

ที่นี้ พูดเองเลยว่า ท่านจงมอบภัณฑะชื่อนี้ให้แก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะนำเอา
ภัณฑะของพวกท่านไป ดังนี้ แล้วเอาศีรษะทูนภัณฑะของพวกชนเหล่านั้นไป
ลูบคลำภัณฑะนั้นด้วยไถยจิตต้องทุกกฎ. เมื่อยังไม่ทันให้ล่วงเขตกำหนดศีรษะ
ตามที่กล่าวแล้วเลย เป็นแต่ลากย้ายไปข้างนี้ ๆ บ้าง ลากย้ายกลับมาบ้าง ต้อง
ถุลลัจจัย, เมื่อภัณฑะนั้นพอเธอลดลงสู่คอ แม้พวกเจ้าของจะมีความคิดว่า
จงนำไปเถิด ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นก็ต้องปาราชิก เพราะตนมิได้ถูกพวก
เขาสั่งไว้. อนึ่ง เมื่อเธอแม้ไม่ได้ลดลงมาสู่คอ แต่ให้พ้นจากศีรษะ แม้เพียง
ปลายเส้นผม ก็เป็นปาราชิก. อนึ่ง สำหรับภาระคู่ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนศีรษะ
ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ที่หลัง. ในภาระคู่นั้น พึงทราบวินิจฉัยด้วยอำนาจแห่งฐาน 2.
แต่การชี้แจงนี้ ได้ปรารภด้วยอำนาจแห่งภาระ มีสีสภาระล้วน ๆ เป็นต้น
เท่านั้น. อนึ่ง แม้ในขันธภาระเป็นต้น ก็มีวินิจฉัยเหมือนที่กล่าวไว้ในสีสภาระ
นี้แหละ.
ส่วนในคำว่า หตฺเถ ภารํ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :- ภัณฑะที่
หิ้วไป เรียกว่า หัตถภาระ เพราะเป็นของที่ถือไปด้วยมือ. ภาระนั้นจะเป็น
ของที่ถือเอาจากภาคพื้นก่อนทีเดียว หรือจะเป็นของที่ถือเอาจากศีรษะเป็นต้น
ด้วยจิตบริสุทธิ์ก็ตามที ย่อมถึงความนับว่า หัตถภาระเหมือนกัน. เมื่อภิกษุ
เห็นที่รกชัฏเช่นนั้น จึงปลงภาระนั้นลงที่ภาคพื้นหรือที่กอไม้เป็นต้น ด้วย
ไถยจิต, เมื่อภาระนั้นสักว่าพ้นจากมือ เป็นปาราชิก.
ก็แล ในคำว่า ภูมิโต คณฺหาติ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :- เมื่อภิกษุ
ปลงภาระเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่งลง บนภาคพื้นด้วยจิตบริสุทธิ์ เพราะเหตุ
มีอาหารเช้าเป็นต้น แล้วกลับยกขึ้นอีกด้วยไถยจิต แม้เพียงเส้นผมเดียว ก็เป็น
ปาราชิก ฉะนี้แล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในภาระ

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวน


พึงทราบวินิจฉัยแม้ในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวนต่อไป :- พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสวนก่อน จึงตรัสว่า สวนดอกไม้ สวนผลไม้ ชื่อว่า
สวน ดังนี้. บรรดาสวนเหล่านั้น สวนเป็นที่บานแห่งดอกไม้ทั้งหลาย มีดอก
มะลิเป็นต้น ชื่อว่า สวนดอกไม้. สวนเป็นที่เผล็ดแห่งผลไม้ทั้งหลาย มีผล
มะม่วงเป็นต้น ชื่อว่า สวนผลไม้. วินิจฉัยภัณฑะที่เขาเก็บไว้แม้ในสวน
โดยฐาน 4 มีนัยดังกล่าวแล้ว ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นเป็นต้นนั่นแล.
ส่วนวินิจฉัยในของซึ่งเกิดในสวนนั้น พึงทราบดังนี้ :- รากไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง
มีแฝกและตะไคร้เป็นต้น ชื่อว่า เหง้า. เมื่อภิกษุถอนรากนั้นถือเอาก็ดี ถือเอา
ที่เขาถอนไว้แล้วก็ดี วัตถุแห่งปาราชิกจะเต็มด้วยรากใด, ครั้นเมื่อรากนั้น
อันเธอถือเอาแล้ว เป็นปาราชิก. แม้เหง้ามัน ก็สงเคราะห์เข้าด้วยรากเหมือน
กัน. ก็เมื่อภิกษุถอนเหง้าขึ้น เป็นถุลลัจจัยทีเดียว ในเมื่อเหง้านั่นยังไม่ขาด
แม้มีประมาณเล็กน้อย. คำที่เหลือ พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเหง้าบัว
นั่นแล.
บทว่า ตจํ ได้แก่ เปลือกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่พอจะใช้ประกอบ
เพื่อเป็นเครื่องยา หรือเพื่อเป็นเครื่องย้อม. เมื่อภิกษุถากถือเอาเปลือกไม้นั้น
หรือถือเอาเปลือกไม้ที่เขาถากไว้แล้ว เป็นปาราชิก โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วใน
รากไม้นั่นแล.
บทว่า ปุปฺผํ ได้แก่ ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีดอกมะลิเครือและ
มะลิซ้อนเป็นต้น. เมื่อภิกษุเก็บเอาดอกไม้นั้น หรือถือเอาดอกไม้ที่เขาเก็บไว้
แล้ว เป็นปาราชิก โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในดอกอุบลและดอกปทุมนั่นแล.
จริงอยู่ แม้ดอกไม้ทั้งหลาย มีขั้วหรือมีที่ต่อยังไม่ขาด ก็ยังรักษาอยู่. แต่
สำหรับดอกไม้บางเหล่า มีไส้อยู่ภายในขั้ว, ไส้นั้นรักษาไม่ได้.